“เมนส์ไม่มา 1 เดือน” หนึ่งในปัญหาสุขภาพผู้หญิงที่หลายคนประสบพบเจอบ่อย แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติใด เพราะบางครั้งประจำเดือนก็อาจจะมาช้าบ้างมาเร็วกว่าปกติบ้าง ขาดหายไปบ้าง แต่ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงไม่เคยค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ “เมนส์ไม่มา 1 เดือน” นั้นสามารถบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพภายในของผู้หญิงอย่างไรบ้าง 

สาเหตุที่ทำให้ เมนส์ไม่มา 1 เดือน

1. การตั้งครรภ์ เมื่อประจำเดือนขาด สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่จะคิดถึง คือ การตั้งครรภ์ หากคุณมีเพศสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ประกอบกับประจำเดือนไม่มามากกว่า 14 วัน ให้คาดเดาว่าเราตั้งครรภ์และควรที่จะหาชุดตรวจการตั้งครรภ์เพื่อทดสอบเบื้องต้นด้วยตนเอง หากไม่พบการตั้งครรภ์ก็ควรที่จะพิจารณาสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย

2. ความเครียด เมื่อร่างกายเกิดภาวะเครียด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่จะเข้ามายับยั้งการทำงานในหลาย ๆ  ส่วนรวมถึงยับยั้งการทำงานระบบสืบพันธุ์ ซึ่งจะทำให้คุณหยุดการตกไข่ชั่วคราว ส่งผลให้ประจำเดือนของคุณมาช้าหรือขาดไปได้ หรือในบางครั้งจะส่งผลให้ประจำเดือนมามากหรือมาน้อยกว่าปกติ หรือ ประจำเดือนขาดหายไปเลย

3. น้ำหนักตัวที่เพิ่มหรือลดมากเกินไป การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวอย่างรุนแรง และรวดเร็ว อาจทำให้ เมนส์ไม่มา 1 เดือน ได้ ยกตัวอย่างเช่น ไขมันในร่างกายที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมาก และรวดเร็ว อาจนำไปสู่ความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่ทำให้ประจำเดือนของคุณมาช้าหรือหยุดไปเลย

4. การใช้ยาคุมกำเนิด  การคุมกำเนิดด้วยการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นนอกจากจะช่วยให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา ในบางรายก็อาจจะให้ผลตรงกันข้ามในช่วงระยะ 2-3 เดือนแรกของการทานยาทำให้ประจำเดือนขาดหายไป หรือในบางครั้งเมื่อหยุดการทานยาเม็ดคุมกำเนิด ร่างกายอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวกว่าที่รอบประจำเดือนจะกลับสู่ภาวะปกติ รวมไปถึงการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฉีดยาคุม ที่เมื่อยุติการคุมกำเนิดแล้วก็อาจจะยังไม่มีประจำเดือนมาจนกว่าร่างกายจะกลับเข้าสู่ภาวะวัยเจริญพันธุ์

5. การเข้าสู่วัยทอง หรือ วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเริ่มลดลง ส่งผลไข่ตกไม่สม่ำเสมอ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติในวัย 45-55 ปี เมื่อประจำเดือนเริ่มขาดหายไปอาจจะเป็นสัญญาณแรกของวัยหมดประจำเดือนซึ่งคุณอาจพบว่า “เมนส์ไม่มา 1 เดือนและกลับมาในเดือนถัดไป หรือเมนส์อาจไม่มา 3 เดือนติดต่อกันและมีโอกาสที่ประจำเดือนจะกลับมาอีกครั้งในเดือนที่ 4 ก็ได้

นอกจากนี้การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคไทรอยด์ ยาต้านอาการทางจิต ฯลฯ รวมไปถึงการหักโหมออกกำลังกาย ปัญหาสุขภาพภายในของผู้หญิง อาทิ การท้องนอกมดลูก ภาวะรังไข่เสื่อม การติดเชื้อที่มดลูก ภาวะพังผืดในมดลูก ก็อาจส่งผลต่อประจำเดือนทำให้ประจำเดือนมาช้าหรือไม่มาได้เช่นกัน

ดังนั้นหากคุณผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ และประสบปัญหากับอาการของประจำเดือนไม่มา 1 เดือนก็อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็เป็นได้ ซึ่งควรจะได้รับการเข้าปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุต่อไป เพื่อจะได้สามารถมั่นใจได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ในกรณีที่อาการประจำเดือนไม่มา 1 เดือนมาจากการตั้งครรภ์หากได้รับการพบแพทย์อย่างรวดเร็วก็จะทำให้คุณสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อปรึกษา ฝากครรภ์ ได้อย่างทันที เพื่อจะได้วางแผนได้อย่างเหมาะสม