วันคุมกำเนิดโลก (World Contraception Day) เป็นวันสำคัญจัดขึ้นวันที่ 26 กันยายนของทุกปี โดยเริ่มจัดครั้งแรกปี 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุมกำเนิด รวมทั้งการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะประชาชนที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ อาทิ สตรีกลุ่มวัยรุ่น หรือผู้มีโรคประจำตัว กล่าวโดยง่าย คือส่งเสริมให้ประชาชนมี 3 รู้ ได้แก่ “รู้จัก รู้ใจ และรู้คุม”
“รู้จัก” หมายถึง การรู้จัก และเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิด ว่าเป็นวิธีที่ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ โดยแบ่งหลักได้ 2 วิธี คือการคุมกำเนิดถาวร ได้แก่ การทำหมัน (หญิง และชาย) และการคุมกำเนิดชั่วคราวซึ่งแบ่งได้หลายวิธี โดยแต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสีย และประสิทธิภาพต่างกันไป วิธีที่นิยมมีดังนี้
ถุงยางอนามัย เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ดีกว่าวิธีอื่นในด้านการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ การใช้คือต้องใส่ถุงยางอนามัยก่อนการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเจอกันของอสุจิและไข่ แต่ข้อจำกัดของการใช้ถุงยางอนามัยในทางปฏิบัติคือ มีโอกาสหลุดหรือฉีกขาดในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งจะลดประสิทธิภาพการป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ยาเม็ดคุมกำเนิด คือการทานยาเม็ดฮอร์โมน ซึ่งมีทั้งแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเดี่ยว และแบบฮอร์โมนรวม (ทั้งโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน) สำหรับฮอร์โมนแบบเดี่ยวจะเหมาะสำหรับสตรีที่มีข้อห้ามในการใช้เอสโตรเจน และสตรีที่กำลังให้นมบุตร เพราะฮอร์โมนแบบเดี่ยวนี้จะไม่ส่งผลต่อปริมาณน้ำนม ในขณะที่ฮอร์โมนแบบรวม จะมีข้อดีในการควบคุมรอบเดือนให้มาสม่ำเสมอ แต่การมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจทำให้มีผลข้างเคียงคือคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ วิธีนี้มีกลไกหลักคือการยับยั้งการตกไข่ จึงต้องทานยาทุกวันในช่วงที่เป็นเม็ดยาแบบมีฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการตกไข่ การลืมทานยาในช่วงดังกล่าว จะทำให้ประสิทธิภาพของวิธีนี้ลดลง
ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นวิธีการฉีดฮอร์โมนเข้ากล้ามเนื้อทุก 1-3 เดือน โดยยาฉีดคุมกำเนิดที่นิยมคือการฉีดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทุก ๆ 3 เดือน ซึ่งมีข้อดีในการคุมกำเนิดได้ระยะยาว และสามารถใช้ในสตรีที่มีข้อห้ามต่อการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมทั้งสตรีให้นมบุตรได้ ทั้งนี้อาจพบผลข้างเคียงคือภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือประจำเดือนไม่มา และบางรายอาจพบภาวะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
ห่วงคุมกำเนิด เป็นการใส่ห่วงคุมกำเนิดในโพรงมดลูก โดยห่วงคุมกำเนิดที่นิยมจะเป็นห่วงทองแดง คุมกำเนิดได้ 3-10 ปี โดยแพทย์จะใส่ห่วงคุมกำเนิดเข้าไปในโพรงมดลูก แล้วเหลือสายห่วงออกมาจากปากมดลูก ดังนั้นต้องคอยคลำตรวจสายห่วงเป็นระยะ ข้อดีของห่วงคุมกำเนิด คือไม่มีผลเรื่องฮอร์โมน หรือระดูผิดปกติ
ยาฝังคุมกำเนิด เป็นวิธีการฝังหลอดยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขนาดเล็ก 1-2 หลอดไว้ที่ใต้ท้องแขน ยาฝังนี้คุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี ข้อดีคือสามารถคุมกำเนิดได้นาน ใช้ได้ในสตรีที่มีข้อห้ามใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือสตรีให้นมบุตร โดยสามารถฝังได้ตั้งแต่ระยะหลังคลอด แต่มีผลข้างเคียงที่พบบ่อยคืออาจมีเลือดประจำเดือนผิดปกติ
“รู้ใจ” หมายถึง การรู้ใจของตัวเองในการเลือกวิธีการคุมกำเนิด โดยพิจารณาถึงหลายแง่มุม อาทิ
จากวิถีชีวิต ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางเพศแบบไม่สม่ำเสมอ อาจเลือกใช้ถุงยางอนามัยซึ่งมีความสะดวก และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะที่ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางเพศแบบสม่ำเสมอแต่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์อาจเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดระยะยาวประสิทธิภาพสูง ได้แก่ ยาฝังคุมกำเนิด และห่วงคุมกำเนิด หรือผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางเพศแบบคู่นอนหลายคน อาจใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
สภาพสุขภาพ สุขภาพของผู้ใช้ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกวิธีการคุมกำเนิด เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่ควรมีบุตร ควรพิจารณาการคุมกำเนิดระยะยาวหรือถาวร หรือผู้ป่วยกลุ่มโรคที่มีข้อห้ามในการใช้ยาฮอร์โมน อาจพิจารณาใส่ห่วงคุมกำเนิดแบบทองแดง หรือการคุมแบบขวางกั้น เป็นต้น
ค่านิยม และความเชื่อทางวัฒนธรรม มักมีส่วนต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิด ตัวอย่างเช่น บางศาสนาหรือวัฒนธรรมมีข้อห้ามการคุมกำเนิด อาจเน้นให้ใช้วิธีธรรมชาติ เช่น การนับวันปลอดภัย หรือการหลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์แทน หรือความเชื่อเรื่องการทำหมันว่าส่งผลต่อเพศสัมพันธ์ หรือบางสังคมไม่สนับสนุนการคุมกำเนิดในวัยรุ่นด้วยมีความเชื่อว่าเป็นการชี้นำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ในขณะที่บางสังคมมีความเชื่อค่านิยมที่ดีในการให้คุมกำเนิดระยะยาวเมื่อยังไม่พร้อมร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ “ยืดอก พกถุง” ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าบางค่านิยม หรือความเชื่อบางอย่างส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิด และอนามัยการเจริญพันธุ์ จึงต้องมีการพูดคุยให้คำปรึกษาเพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง
“รู้คุม” หมายถึง การเลือกคุมกำเนิดจากทางเลือกต่างๆ ตัดสินใจคุมกำเนิดโดยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านทั้ง “รู้จัก” วิธีการคุมกำเนิด และ “รู้ใจ” ของตนเอง และคู่ โดยอยู่ในพื้นฐานการวางแผนถึงความต้องการมีบุตร สุขภาพทางเพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งหากมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้ตัดสินใจใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ไม่เหมาะสม หรือใช้ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์ หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม ประเมินสภาพร่างกาย และช่วยให้การตัดสินใจเลือกวิธีคุมกำเนิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และปลอดภัย
วันคุมกำเนิดโลกครั้งนี้ หากใครยังไม่ต้องการมีบุตร และยังไม่ได้คุมกำเนิด มา“รู้จัก รู้ใจ รู้คุม” ไปด้วยกันนะคะ เข้ารับคำปรึกษากับผู้ให้บริการด้านสุขภาพเพื่อข้อมูลที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่สถานบริการทุกแห่งเลยค่ะ
โดย พญ. สิรยา กิติโยดม
สูตินรีแพทย์ รพ.มหาราชนครราชสีมา