การคุมกำเนิด – ความแตกต่างของการคุมกำเนิดแต่ละแบบ
การวางแผนสำหรับคู่รักหรือการวางแผนครอบครัวเป็นสิ่งที่ทุกคู่ควรให้ความสำคัญ เราต้องการชีวิตคู่แบบไหน ต้องการมีครอบครัวแบบไหน ต้องการที่จะมีลูกในอนาคตอันใกล้ หรือยังอยากใช้ชีวิตคู่แบบมีอิสระอยู่ และยังไม่พร้อมที่จะดูแลอีกหนึ่งชีวิต
“การคุมกำเนิด” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวางแผนชีวิตของตนเองและครอบครัว เพราะการที่จะมีคนอีกคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้น ต้องอาศัยความพร้อมในหลายๆด้านรวมไปถึงความรับผิดชอบต่ออีกชีวิตที่จะเกิดมา ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมต่อบทบาทของการเป็นคุณพ่อคุณแม่ ความพร้อมต่อการเลี้ยงดูลูกน้อยให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ทั้งคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตใจของตัวคุณพ่อคุณแม่และลูก
แม้ว่าการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการคุมกำเนิดจะเป็นวิธีที่หลายคนรู้จัก แต่ในบางแง่มุมเช่น เรื่องของผลข้างเคียงรวมถึงมีข้อจำกัดและปัจจัยอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่เราควรคำนึง โดยมีความแตกต่างกันออกไป อาทิเช่น
● ความปลอดภัยของวิธีการคุมกำเนิด
● ความต้องการในการมีบุตรในอนาคต
● อุปนิสัย เช่น การทานยา การกลัวเข็ม เป็นต้น
● อาการข้างเคียงจากการใช้วิธีการคุมกำเนิดแต่ละชนิด● ปัญหาทางด้านสุขภาพ
การคุมกำเนิดนั้น มีทั้งแบบถาวรและแบบชั่วคราว
การคุมกำเนิดแบบถาวรนั้น ก็คือ การผ่าตัดทำหมัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งการทำหมันในผู้ชาย และการทำหมันในผู้หญิง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการคุมกำเนิดสำหรับผู้ที่มีบุตรแล้วและไม่ต้องการมีบุตรอีกจึงจะใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยวิธีการนี้
การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวนั้นสามารถแบ่งออกเป็นแบบใช้ฮอร์โมนกับแบบไม่ใช้ฮอร์โมน
การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน ได้แก่ การกินยาคุม การฉีดยาคุม การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด การฝังยาคุม และการใส่ห่วงคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมน
การคุมกำเนิดแบบไม่ใช้ฮอร์โมน ได้แก่ การใส่ห่วงคุมกำเนิดแบบไม่มีฮอร์โมน การใช้ถุงยางอนามัย
ซึ่งไม่ว่าจะเลือกวิธีใดควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นหรือปรึกษาแพทย์ประกอบการพิจารณาในการเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับตนเอง
1. การกินยาคุมกำเนิด
การกินยาคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกใช้เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก และหาซื้อยาคุมกำเนิดได้ง่าย ไม่ต้องกระทำโดยแพทย์ อีกทั้งยังสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ทันทีเมื่อหยุดรับประทานยา ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด ได้แบ่งเป็น 3 แบบ การเลือกใช้ ควรพิจารณาตามความเหมาะสม
ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ได้แก่ ยาคุมแบบแผง 21 หรือ 28 เม็ด เป็นแบบที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อทาน เนื่องจากสะดวก หาซื้อง่าย หากต้องการตั้งครรภ์ ก็สามารถหยุดทานยาได้ โดยการรับประทานนั้น ให้รับประทานวันละ 1 เม็ด ในช่วงเวลาเดิมของทุกวัน
ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว เป็นยาคุมแบบแผง 28 เม็ดที่เป็นยาคุมทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเลี่ยงฮอร์โมน Estrogen ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง ผู้ที่ให้นมบุตร หรืออาจะเป็นทาเลือกหนึ่งสำหรับมีประวัติโรคหลอดเลือดอุดตัน (ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาเพิ่มเติม) วิธีใช้เหมือนกับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยาคุมที่ใช้ในสถานการณ์จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรทานเพื่อการคุมกำเนิดในระยะยาว มีทั้งแบบ 1 เม็ด และ 2 เม็ด ยาคุมฉุกเฉินช่วยลดโอกาสในการฝังตัวของตัวอ่อน ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดสอดคล้องกับการกิน คือ ยิ่งกินเร็วเท่าไหร่ยิ่งได้ผลดี แต่ไม่สามารถช่วยในการยุติการตั้งครรภ์ได้
2. การฉีดยาคุมกำเนิด
การฉีดยาคุมกำเนิดในประเทศไทยนั้นจะเป็นการฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับผู้ที่ไม่ชอบการทานยา หรือมักลืมทานยา
การฉีดยาคุมมีลักษณะคล้ายการฉีดวัคซีน โดยการฉีดยาคุม 1 ครั้งใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขนหรือสะโพก การฉีดยาคุมจะออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นานถึง 3 เดือน การฉีดยาคุมจะทำโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นนอกจากนี้การฉีดยาคุมกำเนิดยังช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนมาผิดปกติ หรืออาจจะส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนหลังการฉีด หลังจากหยุดฉีดต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งถึงจะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ตามปกติ ทั้งนี้สตรีให้นมบุตรสามารถฉีดได้โดยไม่มีผลกระทบต่อน้ำนม
3. การใส่ห่วงคุมกำเนิด
การใส่ห่วงคุมกำเนิดเป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง เหมาะสำหรับการคุมกำเนิดในระยะ 3 -10 ปี ในส่วนใหญ่มักจะเป็นวิธีที่ผู้หญิงมีบุตรแล้วมักเลือกใช้วิธีนี้ในการวางแผนครอบครัว
วิธีใส่ห่วงคุมกำเนิดนั้นแพทย์จะใส่อุปกรณ์ขนาดเล็กเข้าไปในโพรงมดลูก ทำหน้าที่ป้องกันการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่ แล้วยังทำให้มดลูกมีสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการฝังตัวได้ เมื่อต้องการกลับมาตั้งครรภ์อีกครั้งเพียงกลับมาพบแพทย์เพื่อนำห่วงออกก็จะสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ
ผลข้างเคียงจากการใส่ห่วงคุมกำเนิดแทบจะไม่มีอาการข้างเคียงเหมือนการกินยาคุม ทั้งยังไม่ส่งผลต่อน้ำหนักตัว แต่มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มักมีอาการปวดประจำเดือนอาจจะมีอาการปวดมากขึ้นหรือมีประจำเดือนมามากกว่าที่เคยเป็นได้
4. การฝังยาคุมกำเนิด
การฝังยาคุมกำเนิดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและกำลังได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นการคุมกำเนิดที่ออกฤทธิ์นาน3 หรือ 5 ปีไม่ต้องรับประทานหรือฉีดยา เพียงแต่การฝังยาคุมกำเนิดจำเป็นต้องฝังยาและนำแท่งยาออกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือพยาบาลผู้ได้รับการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น
โดยแพทย์จะเริ่มฉีดยาชาก่อนการฝัง แล้วจึงหาตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการฝังยาคุมลงไปในแขนด้านที่ไม่ค่อยใช้งาน ในตำแหน่งด้านในของแขนด้านบน เหนือข้อพับ 8-10 ซม. จากนั้นจึงใช้อุปกรณ์ในการฝังยาคุมฝังแท่งยาคุมไปที่บริเวณผิวหนังในแนวราบ คนไข้สามารถคลำเพื่อตรวจสอบตำแหน่งของแท่งยาคุมได้ด้วยตนเอง เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงปิดแผลด้วยผ้าก๊อซและพลาสเตอร์ชนิดกันน้ำ
สำหรับการยุติการคุมกำเนิดเพียงนำแท่งยาคุมกำเนิดออกก็จะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ตามปกติ ทั้งนี้ผลข้างเคียงของการฝังยาคุมนั้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดประเภทอื่นๆ
ข้อควรระวังของการคุมกำเนิดโดยการฝังยาคุม คือ ต้องฝังและถอดแท่งยาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการหรือพยาบาลผู้ได้รับการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น หากพบอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์
5. การใช้แผ่นแปะยาคุมกำเนิด
การใช้แผ่นแปะยาคุมเพื่อคุมกำเนิดเป็นวิธีที่ทำง่ายและสะดวก เพียงแปะแผ่นยาบนผิวหนัง บริเวณท้อง สะโพก หลังหรือต้นแขน การทำงานของแผ่นแปะยาคุมจะทำงานในลักษณะของการปล่อยฮอร์โมนจากแผ่นแปะแล้วค่อยๆดูดซึมทางผิวหนัง
แผ่นแปะยาคุมใน 1 กล่อง จะมี 3 แผ่น ใช้แปะสัปดาห์ละ 1 แผ่น นาน 3 สัปดาห์ และเว้นการแปะแผ่นยาในสัปดาห์ที่ 4 ที่มีประจำเดือน
สำหรับประสิทธิภาพของแผ่นแปะยาคุมนั้นเทียบเท่ากับการรับประทานยาคุมชนิดเม็ด เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบรับประทานยาเม็ด หรือชอบลืมทานยา แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดนานๆอาจจะเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ในระยะยาว บางรายอาจมีการระคายเคืองทางผิวหนังเนื่องจากการแปะแผ่นยาคุมติดต่อกันหลายวัน
6. การใช้ถุงยางอนามัย
ถุงยางอนามัยเป็นสิ่งที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว นอกจากจะหาซื้อได้สะดวกแล้ว ยังมีลูกเล่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง กลิ่น สี นอกจากนี้ยังปลอดภัย ได้รับมาตรฐาน อย. แต่กลับเป็นสิ่งที่หลายคนปฏิเสธที่จะเลือกใช้ในวิธีคุมกำเนิดเนื่องจากความกลัวหรือเขินอายที่จะเดินเข้าไปเลือกซื้อใช้
การใช้ถุงยางอนามัยสามารถใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ต้องสวมใส่อย่างถูกวิธี
การสวมใส่ถุงยางอนามัย ควรสวมใส่ในด้านที่ถูกต้อง เมื่อสวมใส่แล้วควรสวมจนสุดเพื่อป้องกันถุงยางอนามัยหลุดออกขณะที่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังควรตรวจเช็คว่าถุงยางอนามัยขาดหรือรั่วก่อนใช้หรือไม่ และไม่ควรใช้ถุงยางอนามัยซ้ำในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งถัดไป
7. การนับระยะปลอดภัยหรือการป้องกันด้วยวิธีอื่นๆ
การนับวันระยะปลอดภัยเป็นการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะต้องอาศัยความแม่นยำในการนับวันจึงไม่เหมาะสำหรับคนที่ประจำเดือนมาไม่ตรงเวลาสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ สำหรับการหลั่งภายนอก แม้จะเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์ แต่ก็มีประสิทธิภาพต่ำ ทั้งยังมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้สูงกว่าวิธีอื่นๆ