บริการฝังยาคุมฟรี สิทธิประโยชน์ของหญิงไทย
ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รัฐบาลส่งเสริมให้มีบริการใส่ห่วงคุมกำเนิดและบริการฝังยาคุมฟรี เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ที่อาจเป็นปัจจัยก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆในสังคมไทยตามมา
โดยมีหลักเกณฑ์การเข้ารับบริการ ดังนี้
1. หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ต้องการคุมกำเนิด หรืออยู่ในภาวะหลังคลอด หรือหลังยุติการตั้งครรภ์ได้ทุกรณี
2. กรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ จากปัญหาสุขภาพกาย ตัวอ่อนผิดปกติ-พิการ ธาลัสซีเมีย หรือจากการถูกข่มขืน ท้องไม่พร้อม ท้องลม ท้องไข่ปลาอุก และอื่นๆ โดยสามารถนำใบรับรองแพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อไปเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลที่สะดวกได้
สามารถเข้ารับบริการเพื่อรับสิทธิ์ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐบาลทั่วประเทศหรือสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วม โดยประชาชนทุกคนสามารถตรวจสอบสิทธิ์ที่จะได้รับ และลงทะเบียนได้ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วเข้าไปที่ “กระเป๋าสุขภาพ” เมื่อลงทะเบียนแล้วจะปรากฏรายละเอียดสิทธิ์การรักษาพยาบาลและสามารถตรวจสอบสิทธิ์บริการสร้างเสริมสุขภาพที่ได้รับ ได้ตามขั้นตอนด้านล่าง
ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 10 ปี สามารถขอรับบริการฝังยาคุมกำเนิดได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านการเซ็นยินยอมจากผู้ปกครอง
ขั้นตอนกดรับสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน“เป๋าตัง”
2. ลงทะเบียนใช้งาน
3. เลือก “กระเป๋าสุขภาพ”
4. เลือก “สมัครใช้บริการ”
5. ยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อตรวจสอบสถานะ
6. เลือก “สิทธิประโยชน์” เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ของคุณ
สิทธิประโยชน์อื่นๆจาก สปสช. (ระยะเวลา 1 ต.ค. 65 – 30 ก.ย. 66)
1. บริการสำหรับหญิงไทยอายุระหว่าง 15 – 59 ปี ได้สิทธิ์รับยาเม็ดคุมกำเนิดได้ฟรีครั้งละไม่เกิน 3 แผง (คนละไม่เกิน 13 แผงต่อปี)
2. บริการคุมกำเนิดสำหรับหญิงไทยอายุระหว่าง 10 – 59 ปี
a. การใส่ห่วงอนามัย 1 ครั้ง/ปี
b. ยาฉีดคุมกำเนิด ไม่เกิน 5 ครั้ง/ปี
3. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่เกิน 2 แผง/ปี สำหรับหญิงไทยอายุ 10-24 ปี
4. การฝากครรภ์
5. การตรวจคัดกรองมะเร็งสตรี
6. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก
ขยายสิทธิฝังยาคุมฟรี !!! สำหรับผู้หญิงที่มีสิทธิบัตรทอง สามารถตรวจสอบสิทธิ์และนัดหมายบริการได้ในแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” หรือสอบถามเพิ่มเติมการเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand