ตามสถิติในประเทศไทย การตั้งครรภ์ในวัยเรียนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มอายุ 10-19 ปี ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อชีวิต ครอบครัว และสังคม ปัญหานี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษาและโอกาสในอนาคตของเยาวชน เนื่องจากวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มักต้องหยุดเรียนเพื่อดูแลตนเองและบุตร ส่งผลให้พลาดโอกาสทางการศึกษาและขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต

การคุมกำเนิดจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและการเข้าถึงวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด หรือการฝังยาคุม ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและเพิ่มโอกาสในการป้องกันปัญหาได้อย่างดี

นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญเพิ่มเติมนอกเหนือจากการป้องกัน ยังมีเรื่องความรู้ความเข้าใจที่วัยรุ่น หรือวัยเรียนควรได้รับคำแนะนำ ได้รับการพูดคุยกับผู้ปกครอง และมีพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้เรื่องเพศในสถานศึกษา เพื่อให้วัยรุ่นได้เข้าใจและตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดตามขึ้นมาและเข้าใจวิธีการป้องกันอย่างเหมาะสม

การเข้าถึงวิธีคุมกำเนิดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพไม่เพียงช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แต่ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย แม้ว่าแนวโน้มของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหานี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับความใส่ใจอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วนในสังคม

สถิติการคลอดในวัยรุ่น

กลุ่มอายุ 10-14 ปี

  • ปี 2562: อัตราการคลอด 0.85 ต่อ 1,000 ประชากรหญิงในวัยเดียวกัน
  • ปี 2563: อัตราการคลอด 0.81 ต่อ 1,000 ประชากรหญิงในวัยเดียวกัน
  • ปี 2564: อัตราการคลอด 0.9 ต่อ 1,000 ประชากรหญิงในวัยเดียวกัน 

กลุ่มอายุ 15-19 ปี

  • ปี 2562: อัตราการคลอด 31 ต่อ 1,000 ประชากรหญิงในวัยเดียวกัน
  • ปี 2563: อัตราการคลอด 28.7 ต่อ 1,000 ประชากรหญิงในวัยเดียวกัน
  • ปี 2564: อัตราการคลอด 25 ต่อ 1,000 ประชากรหญิงในวัยเดียวกัน 

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าอัตราการคลอดในวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีวัยรุ่นจำนวนมากที่ต้องออกจากการศึกษา หรือไม่ได้ศึกษาในสถานศึกษาเดิมเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.1 อยู่บ้านเลี้ยงลูก และมีเพียงร้อยละ 23.0 ที่ได้กลับไปศึกษาต่อ แหล่งที่มา: สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์

การตั้งครรภ์ไม่พร้อมนำไปสู่การทำแท้ง

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาสำคัญ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพแม่และบุตร เช่น โลหิตจาง ครรภ์เป็นพิษ และการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้การตั้งครรภ์ดังกล่าวมักเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งส่วนหนึ่งจบลงด้วยการทำแท้ง คุณแม่วัยรุ่นเองก็เสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตกเลือด ติดเชื้อในกระแสเลือดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมในวัยเรียน

การคุมกำเนิดที่เหมาะกับวัยเรียนควรคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความสะดวกในการใช้งาน และความปลอดภัย โดยพิจารณาวิธีที่ไม่ยุ่งยากและไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนหรือกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น

การใช้ถุงยางอนามัย : เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันทั้งการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใช้ง่ายและสะดวก แต่อาจต้องให้ความรู้ในการใช้งานอย่างถูกต้องเพื่อให้ได้ผลเต็มที่

การทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด : เป็นวิธีที่มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงเมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง วัยรุ่นสามารถรับประทานยาคุมได้ทุกวัน ซึ่งสามารถควบคุมการตั้งครรภ์ได้ดี แต่ต้องมีความรับผิดชอบในการทานยาอย่างสม่ำเสมอและไม่ลืม

การฝังยาคุมกำเนิด : เป็นอีกวิธีที่สะดวกมากสำหรับวัยรุ่นที่ไม่อยากยุ่งยากเมื่อเทียบกับวิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นๆ เพราะจะมีการฝังยาคุมในใต้ผิวหนังที่แขน และสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ระยะยาว โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการทานยา หรือใช้ถุงยางทุกครั้ง

ทำไมถึงเลือกวิธีการฝังยาคุมกำเนิด

  • ประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาอย่างสม่ำเสมอช่วยยับยั้งการตกไข่และเปลี่ยนแปลงสภาพมูกปากมดลูก ทำให้สเปิร์มเข้าถึงไข่ได้ยากขึ้น
  • ยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีระยะเวลายาว 3-5 ปี (ขึ้นอยู่กับชนิดของยาฝัง) ทำให้ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการลืมกินยาคุมรายวัน
  • ไม่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง หลังจากการฝังยาคุม ผู้ใช้ไม่ต้องจำวิธีการหรือปฏิบัติต่อเนื่องเหมือนการกินยาคุมรายวันและยังสามารถใช้ควบคู่ไปกับถุงยางอนามัยได้
  • ปลอดภัยและเหมาะสำหรับผู้ใช้หลายกลุ่ม เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ เช่น ผู้ที่มีประวัติโรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง
  • เมื่อถอดยาฝังออก ฮอร์โมนจะหมดฤทธิ์ในเวลาไม่นาน ผู้ใช้สามารถกลับมามีบุตรได้อย่างรวดเร็วไม่ยุ่งยาก
  • กระบวนการฝังและถอดยาฝังคุมกำเนิดทำได้ง่ายโดยแพทย์ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที
  • ฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาในปริมาณต่ำต่อเนื่องมักไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
  • ในบางรายลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพบางอย่าง การเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและการเกิดซีสต์ที่รังไข่

การฝังยาคุมกำเนิดจึงเหมาะกับวัยรุ่นหรือผู้ที่ต้องการวางแผนครอบครัวระยะยาวช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในช่วงวัยเรียนหรือช่วงที่ยังไม่พร้อมมีบุตร

การฝังยาคุมกำเนิดต้องได้รับคำแนะนำและดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และควรพิจารณาข้อจำกัดและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาการประจำเดือนผิดปกติ หรือผลกระทบเฉพาะบุคคล

ปัจจุบันการขอรับบริการฝังยาคุมกำเนิดฟรีจากโรงพยาบาลของรัฐเป็นสิทธิที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดแบบระยะยาว ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการที่สนับสนุนโดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ผ่านโรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน หรือติดต่อสอบถามที่สายด่วน 1330