Q&A ฝังยาคุมเจ็บไหม
การฝังยาคุมเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีมานาน เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมด้วยเหตุผลบางประการ
ประการแรก คือ “ขาดความรู้และข้อมูลที่เหมาะสม” เกี่ยวกับการฝังยาคุมกำเนิด ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบเพื่อเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับตนเองได้ จึงตัดสินใจเลือกการคุมกำเนิดแบบอื่นที่ง่ายและสะดวกกว่า
ประการที่สอง คือ “การเกิดความกลัว” เช่น กลัวเจ็บ กลัวเกิดสิว กลัวอ้วน เป็นต้น
ประการที่สาม คือ “การเกิดความเข้าใจผิด” เกี่ยวกับการฝังยาคุมกำเนิดโดยเฉพาะเรื่องผลข้างเคียงจากการฝัง ทั้งที่ในความเป็นจริง การฝังยาคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง
กระบวนการฝังยาคุม ใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้นในการฝังยา เริ่มจากการฉีดยาชา จากนั้นจึงระบุตำแหน่งที่จะฝังบริเวณต้นแขนด้านในระหว่างรักแร้กับข้อศอก ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝังยาคุมแทนการฝังด้วยมือ ประกอบกับตัวแท่งยาเองก็มีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กทำให้ช่วยลดอาการระคายเคืองหลังการฝัง เมื่อระบุตำแหน่งการฝังแล้ว จึงใช้อุปกรณ์แทงเข้าผิวหนังและกดฝังยาในแนวราบ ผู้ฝังสามารถคลำเพื่อตรวจสอบตำแหน่งที่ยาถูกฝังไว้ได้ด้วยตนเอง แล้วจึงปิดพลาสเตอร์และพันผ้าก็อซซ้ำอีกครั้ง
การฝังยาคุมมีฤทธิ์คุมกำเนิดนานตั้งแต่ 3 ปี หรือ 5 ปี ตามแต่ชนิดของตัวยาที่เลือกใช้ สามารถฝังได้ในหญิงวัยเจริญพันธ์ุทุกคนที่ต้องการคุมกำเนิดและเว้นระยะของการมีบุตร โดยไม่ส่งผลต่อการมีบุตรยาก หลังจากการถอดยาคุมออกสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลารอนานเหมือนกันการฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน
รวมไปถึงคุณแม่ที่ให้นมบุตรสามารถทำการฝังยาคุมได้โดยไม่ส่งผลใดต่อน้ำนม และยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือนหรือภาวะการมีประจำเดือนมากของผู้หญิงได้ ปีที่ 2 ของการฝังยาคุม ประจำเดือนจะลดลงจนกระทั่งไม่มีประจำเดือน ทำให้ลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจาง ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย เมื่อหยุดการฝังยาคุม ประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติ
Q&A การฝังยาคุมเจ็บไหม
A : ก่อนที่จะทำการฝังแท่งยา แพทย์จะฉีดยาชาในบริเวณที่จะฝังยาก่อน ทำให้ลดการเจ็บระหว่างการฝังยา หากมีอาการปวดบริเวณภายหลังการฝังสามารถทานยาแก้ปวดได้ตามที่แพทย์แนะนำ
Q&A ใช้เวลานานไหม
A : ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น
Q&A แผลใหญ่ไหม
A : เป็นแผลขนาดเล็กประมาณ 2-3 มม. บริเวณต้นแขนด้านในเหนือข้อพับประมาณ 8-10 ซม. จึงไม่ต้องกังวลกับรอยแผลเป็นหรือเขินอายเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าที่เปิดช่วงท่อนแขน
Q&A การดูแลหลังการฝังยา
● ควรปิดพลาสเตอร์กันน้ำเป็นเวลา 7 วัน
● ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าแผลและห้ามแผลโดนน้ำ
● ควรงดยกของหนักเป็นเวลา 7 วัน
● ยาคุมที่ฝังใต้ผิวหนังจะเริ่มออกฤทธิ์หลังการฝังไปแล้ว 24 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์หลังจากการฝังยาเป็นเวลา 7 วัน
● พบแพทย์เพื่อตรวจแผลฝังยาหลัง 7 วัน
● พบแพทย์ประจำปีเพื่อติดตามการใช้ยาปีละครั้ง
Q&A การฝังยาคุมมีผลข้างเคียงไหม
A : อาการข้างเคียงจากการฝังยาคุม ส่วนใหญ่จะมีอาการประจำเดือนมากะปริบกะปรอย และมักจะค่อยๆ ลดลงจนกระทั่งไม่มีประจำเดือนหลังจากการฝังยาคุมประมาณ 1 ปี แต่ไม่เป็นภาวะที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
นอกจากนี้อาการอื่นๆ ที่พบได้เป็นส่วนน้อยมาก ได้แก่ อาการปวดศรีษะ เป็นสิว น้ำหนักเพิ่มขึ้น เป็นต้น
Q&A ยาฉีดคุมกำเนิดกับยาคุมแบบฝัง แบบไหนดีกว่ากัน
A : ก่อนอื่นต้องอธิบายถึงความแตกต่างของจุดประสงค์ในการคุมกำเนิดระหว่างการฉีดยาคุมและการฝังยาคุมก่อน
“การฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน” เป็นการฉีดที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย มีข้อดี คือ การไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน เช่นการกินยาคุม รวมถึงมีข้อจำกัดน้อยกว่าการกินยา
แต่การฉีดยาคุมจะไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมีบุตร เพราะการฉีดยาคุมมีกลไกทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกนั้นฝ่อลง ส่งผลให้เมื่อหยุดฉีดยาแล้ว ร่างกายต้องใช้ระยะเวลารอนานตั้งแต่ 6-10 เดือน ถึงจะมีประจำเดือนตามปกติและสามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากนั้น จึงไม่แนะนำสำหรับผู้ต้องการมีบุตรทันทีหลังจากหยุดยาและผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
“การฝังยาคุม” เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีระยะเวลายาวนานกว่า หากแต่สามารถถอดแท่งยาออกได้เมื่อต้องการยุติการคุมกำเนิด หลังจากการยุติการคุมกำเนิดแล้วจะกลับมาตั้งครรภ์ได้ทันทีเมื่อประจำเดือนมา
นอกจากนี้การฝังยาคุมยังสามารถฝังได้ในสตรีวัยเจริญพันธ์ทุกคนที่เริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากจำเป็นต้องทำการฝังและถอดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือพยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น
โดยสรุปอาจจะกล่าวได้ว่า การที่จะเปรียบเทียบถึงการคุมกำเนิดว่า
“ยาฉีดคุมกำเนิดกับยาคุมแบบฝัง แบบไหนดีกว่ากัน” นั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้วยเหตุผลส่วนตัวของแต่ละบุคคลนั่นเอง
ไม่ว่าเราจะเลือกการคุมกำเนิดด้วยวิธีใดจึงควรที่จะศึกษาข้อมูล ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนครอบครัวเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจคุมกำเนิดของตนเอง
ทั้งนี้การฝังยาคุมเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของการคุมกำเนิดที่แม้จะมีความปลอดภัยสูง คงประสิทธิภาพ แต่ก็ยังคงมีอาการข้างเคียงของการใช้ยาอยู่ หากพบความผิดปกติ หรือมีอาการข้างเคียงจนรบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวันควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม